หากย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของการบำบัดด้วยศิลปะจะพบว่า การบำบัดด้วยศิลปะเป็นกระบวนการในด้านจิตวิทยาสาขาจิตบำบัด(Psychotherapy) ในแขนงศิลปะบำบัด (therapeutic aet) แขนงวิชาศิลปะบำบัดนี้เป็นแขนงวิชาใหม่ เริ่มมีตำราทางวิชาการเผยแพร่ในประเทศแถบตะวันตก เมื่อประมาณก่อนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เล็กน้อย เน้นหนักในด้านของสุขภาพจิตที่ได้ค้นคว้ากันในทศวรรษก่อน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาความสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาจิตวิทยา และสาขาศิลปศึกษาเกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลในสาขาศิลปศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของแขนงวิชาที่ตนสามารถให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจากบทบาทของตัวเองในสังคมที่เป็นอยู่เดิม จึงมีการเรียกร้องให้แขนงวิชาศิลปศึกษาได้มีส่วนร่วมในการช่วยสังคมด้วยจากกระแสความต้องการนี้เองจึงได้มีการผลิตบัณฑิตระดับมหาบัณฑิตในด้านศิลปะบำบัด บัณฑิตเหล่านี้ได้รับการศึกษาและฝึกหัดจากสถาบันอุดมศึกษาเจ็ดแห่งในช่วงระยะเวลา 5 ปีต่อมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยกว่า 48 แห่งที่เปิดสาขาวิชาเรียนและฝึกด้านศิลปะบำบัด โดยเป็นวิชาที่ประสานวิชาการทางด้านศิลปศึกษาเข้ากับการศึกษาพิเศษ(special education)
ทฤษฎีในด้านศิลปะบำบัดที่ใช้กันแพร่หลายมีทฤษฏีของซิลเวอร์ เซ็คท์แมน อูลิน และซิงเกอร์ ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีใช้ต่างกรณีกันไป อย่างทฤษฎีของซิลเวอร์ใช้ในการบำบัดเด็กที่หย่อนสมรรถภาพทางการพูดและการเขียนอ่านอันเนื่องมาจากปัญหาทางอารมณ์แต่มีสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวและการเห็นได้ดี ซิลเวอร์เน้นการบำบัดโดยให้เด็กสำรวจและแสวงหาจากกระบวนการทำงานศิลปะ เช่นในกิจกรรมวาดภาพจะเน้นรูปแบบทางศิลปะมากกว่าเนื้อหา คือเน้นที่สี รูปร่าง มากกว่าเรื่องราว และเสริมกระบวนการด้านศิลปะปฏิบัติด้วยภาษา การบำบัดนี้จะมีผลในการปรับสมดุลด้านอารมณ์ของเด็ก
ส่วนทฤษฎีอื่นของซิงเกอร์ใช้บำบัดเด็กวัยรุ่นที่มีความบกพร่องด้านระบบประสาท ซึ่งมีผลต่อสมรรถภาพด้านการอ่านด้วยการเห็นและการเคลื่อนไหวซึ่งใช้บำบัดทั้งในระบบกลุ่มและระบบเดี่ยว ครูจะวางแผนการเรียนการสอนระยะยาวไว้ให้เด็กตามความต้องการและความเหมาะสมเป็นรายบุคคล กระบวนการบำบัดจะใช้กิจกรรมทางศิลปะปฏิบัติ เช่น การสร้างจิตรกรรม 3 มิติ ด้วยแถบกระดาษ เพื่อให้เด็กได้สำรวจหารูปร่างของเส้นและรูปร่างของบริเวณว่างจากงานศิลปะที่ตัวเองทำขึ้น
เมื่อกลุ่มคนที่สนใจเรียนด้านการบำบัดด้วยศิลปะ จึงทำให้ศาสตร์ด้านนี้เริ่มขยายเข้าสู่โรงเรียน โดยครูผู้เชี่ยวชาญจะใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เช่นทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์ และการละครเป็นเครื่องมือ ในบางกรณีจะใช้แยกเป็นเอกเทศ แต่บางกรณีก็จะใช้ร่วมกันตามขั้นตอนที่เหมาะสม อาจเริ่มด้วยดนตรีและตามด้วยขั้นตอนทัศนศิลป์ ปฏิบัติการต่างๆ นี้ทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาในแขนงนี้โดยเฉพาะ ครูศิลปะธรรมดาของแขนงวิชาศิลปะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเกิดผลเสียมากกว่าจะเกิดผลดี
ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถนั้นนอกจากจะได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาทางด้านศิลปศึกษาพิเศษแล้ว ก็ควรจะมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้านใดด้านหนึ่งของเด็กพิเศษที่มีความบกพร่อง เช่นผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านของเด็กปัญญาอ่อนหรือเด็กพิการด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจต้องขอความร่วมมือจากแพทย์ด้วยเพื่อการสนองตอบต่อความต้องการของเด็กได้อย่างแท้จริง
อย่างเช่น น้องโอม
"เด็กออทิสติกมีปัญหาด้านอารมณ์ โอมเป็นเด็กไม่นิ่ง วีนบ่อยมาก ก่อนหน้านี้ต้องใช้ยา ปรับยาตลอด คุณแม่ก็เครียดกลัวยาจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเริ่มนำศิลปะมาใช้กับลูกตั้งแต่ปี 50 โอมนิ่งขึ้น ใจเย็น อยู่ร่วมกับเพื่อนได้ดีขึ้น
ตอนนี้ไม่ต้องใช้ยาเลย ดูภายนอกแทบไม่รู้เลยว่าโอมเป็นโรคออทิสติก การทำงานศิลปะเป็นยาทางใจ ให้ผลเกิน 100%" นันท์นภัส จำนงนภรักษ์ คุณแม่น้องโอม-เด็กชายธรรมรักษ์ จำนงนภรักษ์ วัย 18 ปี เล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจกับการนำศิลปะมาช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกชาย
และขณะนี้น้องโอม-ธรรมรักษ์ เป็นหนึ่งในเจ้าของผลงานศิลปะที่กำลังแสดงในนิทรรศการ "ศิลปะบำบัด ครั้งที่ 3 " (THE ART EXHIBITION & THERAPY III) ที่ชมรมศิลปะบำบัดจัดแสดงผลงานของเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติก เด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้น ซนผิดปกติ เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม ขึ้นที่ห้องนิทรรศการแสดงภาพ ชั้น 4 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้
สำหรับชมรมศิลปะบำบัดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยการรวมตัวของหมอ ครู ศิลปิน รวมถึงผู้สนใจนำศิลปะมากระตุ้นพัฒนาการในเด็กพิเศษ โดยมีอาจารย์ภาณุกร วนิชย์กุล เป็นครูผู้สอนศิลปะ เป้าหมายของการตั้งชมรมนั้นเพื่อให้โอกาสเด็กพิเศษผู้มีความสามารถทางศิลปะแฝงอยู่ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเองผ่านการทำงานศิลปะ และสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
อาจารย์ภาณุกร วณิชย์กุล ผู้นำแนวคิดศิลปะบำบัดมาใช้กับเด็กพิเศษ กล่าวว่า ศิลปะจะช่วยในการบำบัดความรู้สึกของเด็กพิเศษเหล่านี้ให้ดีขึ้น ไม่รู้สึกเครียด เพราะพวกเขาได้แสดงออกทางความคิดผ่านลายเส้นที่วาดและสามารถใช้ลายเส้นเหล่านั้นค้นหาความต้องการที่มีอยู่ในตัวโดยรวมแล้วศิลปะจะคล้ายกับจิตวิทยาที่ช่วยบำบัดเด็กๆ เพราะศิลปะไม่ได้มีความหมายแค่การวาดรูปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการค้นหาศักยภาพของเด็กเพื่อเป็นสื่อบอกความต้องการ และสร้างสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย
ด้านผู้ก่อตั้งชมรมศิลปะบำบัด สิริพร อนันตลาโภชัย คุณแม่น้องคริต -ชาคริต อนันตลาโภชัย เด็กพิเศษวัย 18 ปี กล่าวว่า เมื่อปี 2550 ชมรมเคยจัดแสดงงานศิลปะของเด็กพิเศษ 17 คน มีผลงานภาพ 70 ภาพ ร่วมกับกลุ่มศิลปินอีก 100 คน งานประสบผลสำเร็จ นิทรรศการนี้เป็นอีกครั้งที่เด็กพิเศษได้แสดงผลงานของเด็กพิเศษ ขณะเดียวกันการเผยแพร่ผลงานครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษที่มีความสามารถได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบ และถนัด สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ขณะนี้ทราบว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษและเด็กที่มีความต้องการพิเศษแห่งชาติขึ้น เพื่อรับเด็กพิเศษเข้าเรียนต่อปริญญาตรี เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
"เด็กพิเศษ ไม่ได้เรียกว่า "เด็กมีปัญหา" แต่มีความยุ่งยากในการสื่อสารกับสังคม สื่อสารกับคนอื่นๆ พวกเขาสมาธิสั้น กิจกรรมศิลปะบำบัดช่วยทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น เด็กมีความสุข ได้ระบายอารมณ์ผ่านการระบายสี เขียนรูป ขณะเดียวกันพ่อแม่ คนรอบข้างสื่อสารกับเขาได้มากขึ้น ดูจากภาพวาดแล้วเข้าใจว่าเขาคิดยังไง ในเมืองไทยศิลปะบำบัดยังไม่พัฒนามากนัก แต่ทางชมรมฯ พยายามศึกษาจากเอกสารทางวิชาการของต่างชาติ ผลการประชุมต่างๆ เพื่อนำความรู้มาบอกพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเด็กพิเศษในครอบครัว" สิริพร กล่าว
ผลงานศิลปะของเด็กพิเศษจากชมรมศิลปะบำบัด มีทั้งภาพเขียนสีน้ำมัน สีอะครีลิก สีชอล์ก และสีไม้ แต่ละภาพเด็กถ่ายทอดทางความคิดและความต้องการที่มีอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจ และสื่อออกมาแทนคำพูด รวมถึงโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่มีเหมือนกัน เชื่อคนดูงานจะรับรู้ได้ด้วยใจ คือ พลังในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีชีวิตชีวาจากความสุขในการทำงานศิลปะ
ศูนย์การเรียนบ้านสานรักเพื่อเด็กพิเศษ
Tel. : 02-002-8855 , 061-269-2244
And 098-914-9825 , 094-252-2614
Email: info@thai-autistic.com
WEBSITE www.thai-autistic.com
Facebook www.facebook.com/BanSanRak.info