อรรถบำบัด หรือ ฝึกการออกเสียง
การพูดสื่อความหมาย เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กออทิสติก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางภาษา และการพูดเมื่อถึงวัยอันสมควร ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่บรรดาบิดามารดา ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความสามารถในการพูดสื่อความหมายของเด็กปกติเสียก่อน เด็กปกติจะเรียนรู้การพูดได้นั้นต้องเริ่มจากการได้ยิน ความสามารถในการจำแนกความแตกต่าง และเชื่อมโยงสัญญาณเสียงพูดนั้นๆ เข้ากับความหมายต่างๆที่สามารถรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทุกส่วนของร่างกาย แล้วจึงออกเสียงเลียนแบบตัวอย่างจนได้รับปฏกิริยาตอบสนองเป็นที่มั่นใจแล้วจึงสามารถออกเสียงพูดเองเมื่อต้องการสื่อความหมายได้ถูกต้อง
ถ้อยคำที่คนปกติพูดสื่อความหมายกันนั้น จำแนกได้เป็น 3 ส่วนคือ
1.การออกเสียง (Phonation)
2.ความหมาย (Semantic)
3.ไวยากรณ์ (Syntax)
ทั้ง3 ส่วนนี้ ประกอบกันเป็นคำพูดแทนสิ่งที่เป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม ทั้งผู้พูด และผู้ฟังจะต้องมีการเรียนรู้ระบบภาษาเดียวกันเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่เพียงแต่การแสดงออกด้วยการพูดเท่านั้น ผู้พูดยังแสดงสีหน้าท่าทางประกอบคำพูดอีกด้วย
เด็กออทิสติกไม่เพียงแต่จะมีความบกพร่องในด้านการรับรู้ความหมายของคำพูดแล้วยังไม่สามารถทำความเข้าใจสีหน้า ท่าทาง ที่ออกมาพร้อมกับคำพูดอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถออกเสียงและแสดงท่าทางเลียนแบบได้เหมือนตัวอย่างทุกประการ แต่ไม่มีความเข้าใจความหมายคำพูดนั้นๆเลย
การใช้ภาษาไว้ 10 ระดับ [จากน้อยไปหามากที่สุด] ดังนี้
ระดับที่ 1
- เงียบเฉย ไม่ออกเสียงใดๆ
- ส่งเสียงเมื่อมีความไม่สบายบ้าง
- ร้องไห้บ้าง ไม่มาก
ระดับที่ 2
- ออกเสียงบ้าง แต่เป็นเสียงเดียวซ้ำๆ
- ส่งเสียงเบาๆ ในคอ,ส่งเสียงดัง เค้นเสียงกรีดร้องเมื่อตื่นเต้นตกใจ คับข้องใจ หรือเมื่อพอใจ
- ส่งเสียงอา อี มากขึ้น แต่เป็นเสียงที่มีระดับเดียวกันเสมอต้นเสมอปลาย
ระดับที่ 3
- เปลี่ยนความดัง และระดับเสียงได้มากขึ้น
- ส่งเสียงเป็นทำนอง
- ออกเสียงพยัญชนะ ค / ล / ก / บ / ประกอบสระอูได้ดี
- ออกเสียงเป็นทำนองซ้ำๆ
- ส่งเสียงอ้อแอ้ขณะอยู่ตามลำพัง
- หัวเราะเองไม่มีสาเหตุ
ระดับที่ 4
- ส่งเสียงอ้อแอ้มากขึ้น
- ออกเสียงพยางค์เปิด (พยัญชนะผสมสระ) เช่น มา ปู ปี จาฯลฯ บ่อยๆ
ระดับที่ 5
- เริ่มมีการออกเสียงวลีซ้ำๆ
- ออกเสียงเลียนแบบตัวอย่างที่เคยได้ยินมาก่อน
- เลียนแบบเสียงคำพูดบ่อยมากขึ้น
ระดับที่ 6
- ส่งเสียงคำที่ไม่มีความหมายบ่อยมาก
- ส่งเสียงคล้ายคำพูด แต่ฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร แทนความหมายใดๆ
ระดับที่ 7
- เริ่มบอกชื่อ สิ่งของต่างๆ ที่ใช้บ่อยได้ถูก
- บอกชื่อบุคคล สมาชิกในครอบครัวได้ถูก
ระดับที่ 8
- ออกเสียงเป็นประโยคที่ประกอบด้วยคำ 3 คำได้ถูก (ใช้ถูกความหมาย)
- เรียกชื่อตนเองได้ถูกต้อง
ระดับที่ 9
- ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวเองได้ถูก และคล่อง
ระดับที่ 10
- ออกเสียงประโยคยาวๆ สื่อความหมาย และโต้ตอบได้ถูกต้อง
ความสามารถในการแสดงออกทางการพูดตามระดับต่างๆ นั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการมากขึ้นมาได้ทุกระดับ ไม่จำกัดอายุ และระยะเวลา ความสามารถในการพูดสื่อความหมายจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยจำนวนคำศัพท์ที่เรียนรู้ และความสามารถในการเชื่อโยงความหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ลักษณะการเรียนรู้คำศัพท์ของเด็กออทิสติกต่างจากเด็กปกติพอสรุปได้ดังนี้
1.เรียนรู้คำศัพท์จำกัดเฉพาะในสถานการณ์ที่เริ่มต้นเรียนรู้เท่านั้น ไม่สามารถนำไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อื่นได้ เช่น เด็กรู้จักช้อน ใช้ตักอาหาร เรียกได้ถูกต้อง เมื่อมาเห็นช้อนที่ใช้ในหน้าที่อื่น เช่น ช้อนชา ช้อนรองเท้า หรือ ช้อนอื่นที่มีลักษณะผิดแปลกจากช้อนตักอาหาร จะไม่เข้าใจและบอกไม่ได้
2.ไม่สามารถเชื่อมโยงคำศัพท์ที่เรียนรู้แล้วกับสิ่งอื่นที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันได้ถูกต้องเช่น เด็กรู้จัก "บอล" ที่เป็นลูกทรงกลม แต่เมื่อเห็นสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน แต่ขนาดต่างกัน เช่น ลูกโป่ง มะนาว แตงโม ไข่ ปิงปอง ฯลฯ ก็จะบอกว่า "บอล" เหมือนกัน
3.คิดคำศัพท์ใหม่มาแทนสิ่งที่ยังไม่รู้จักด้วยตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับความหมายที่คนปกติทั่วๆไปเข้าใจ เช่น อู๊ด แปลว่า นิ้ว , ยำ แปลว่า นั่ง ฯลฯ
กิจกรรมอรรถบำบัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางภาษาและการพูด
จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ในห้องที่ใช้ฝึกจะต้องมีลักษณะดังนี้
- เงียบ ไม่มีเสียงรบกวน
- มีการแตกต่างน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
- เปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามความเหมาะสม
ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เด็กแสดงออก เช่น
- การไม่อยู่นิ่ง
- ทำลายสิ่งของ
- ทำร้ายตัวเอง
- ความสนใจสั้น
ฝึกเล่นเสียง
- ออกเสียงที่เคยทำได้บ่อยมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมอวัยวะในการพูดได้คล่องมากขึ้น
- เล่นประกอบเสียง เช่น กระโดด จ๊ะเอ๋ เคลื่อนไหวประกอบเสียง
- ส่งเสียงตามของเล่น หรือส่งเสียงตามสัญญาณ
- ออกเสียงตามเครื่องดนตรี ให้เกิดความเพลิดเพลิน
ฝึกเลียนเสียงพูด
- ให้ออกเสียงพูดตามตัวอย่าง
- ออกเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น บา มา ดา ปา ปู ปี ฯลฯ
- เพิ่มจำนวนพยางค์ให้มากขึ้น (2-3 พยางค์) ติดต่อกันเช่น บาบา มามามา ฯลฯ
- ออกเสียงสลับกันให้มากขึ้น เช่น บาบูบี มาบาบี บีมาบี ฯลฯ
- สร้างคำใหม่ที่มีความหมายจากเสียงที่ฝึกไปแล้ว เช่น มา เป็น หมา ,บา เป็น บ้าน บอก ใบ้,มู เป็น หมูฯลฯ
ฝึกแสดงออกด้วยคำพูด
- ออกเสียงเรียกชื่อกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ให้ถูกต้อง
- เล่นเกมที่ต้องใช้คำพูดประกอบ จึงจะได้สิ่งที่ต้องการ(หลีกเลี่ยงเกมที่เด็กไม่ชอบ)
- ให้ออกเสียงบอกชื่อ สิ่งของ และส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- บอกความต้องการของตนเอง
ออกเสียงพูดสื่อความหมาย
- ขยายจำนวนพูดจากคำ เป็นประโยคที่มีข้อความสมบูรณ์ เช่น หนม ->ขนม->ขอนม ครับ จนเป็นประโยค ผมอยากกินขนมครับ
- ถ้าตอบคำถามได้ให้ตอบคำถามด้วยประโยคสมบูรณ์ทุกครั้ง
- การกระตุ้นให้ออกเสียงเองเช่นนี้ ถ้าเด็กออกเสียงพูดเองไม่คล่อง ให้ออกเสียงนำเป็นบางส่วน แล้วเว้นไว้ให้เด็กออกเสียงต่อให้สมบูรณ์
การกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา และ การพูดต้องอาศัยความวิริยะ อุตสาหะ ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ผู้ใกล้ชิด อย่างมากมาย ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะใช้เวลานานเท่าใดจึงจะได้ผล และไม่มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นปกติทุกประการ ขอเพียงแต่ให้มีพัฒนาการมากขึ้นกว่าเท่าที่เห็นอยู่ และใกล้เคียงสภาพปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้จะนานเท่าใดก็ตาม แต่อย่าได้หยุดการปฏิบัติการเพื่อการกระตุ้นเด็ก ขอให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะเกิดผลดีขึ้นแน่นอน เด็กกลุ่มนี้หากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการก่อนอายุ 5 ปี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสพัฒนาการทางภาษา และการพูดได้เร็วมากขึ้น
ศูนย์การเรียนบ้านสานรักเพื่อเด็กพิเศษ
Tel. : 02-002-8855 , 061-269-2244
And 098-914-9825 , 094-252-2614
Email: info@thai-autistic.com
WEBSITE www.thai-autistic.com
Facebook www.facebook.com/BanSanRak.info